มาตรฐาน International Protection (IP) คืออะไร
หลายคนคงเคยได้ยินคำถามว่า ค่า IP เท่าไหร่ ใช้กันน้ำได้หรือเปล่านะ จะรู้ได้อย่างไรว่า กันน้ำได้หรือเปล่าแล้วมันกันได้มากแค่ไหนกัน วันนี้เราจะมาเผยความลับกัน ว่าค่า มาตรฐาน IP ที่เราเคยได้ยินกันนั้น มันคืออะไร และจะรู้ได้อย่างไร ว่า IP เท่าไหร่ ถึงกันได้หรือไม่ได้ กันได้มากแค่ไหน มาทำความรู้จักกับ ตัวเลขเหล่านี้กันครับ
มาตรฐาน IP คืออะไร
International Protection มาตรฐาน IP ชื่อเต็ม International Protection Standard ตามมาตรฐาน IEC 60529 หรือบางครั้งถูกตีความเป็น Ingress Protection Rating คือ “มาตรฐาน ที่บอกถึงระดับการป้องฝุ่นและน้ำของเครื่องจักร (mechanical casings) และอุปกรณ์ไฟฟ้า (electrical enclosures)”
ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย IEC (International Electrotechnical Commission) เทียบเท่ากับมาตรฐานยุโรป EN 60529 มาตรฐาน IP จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม ที่จะเข้าไปในอุปกรณ์ Electronic ภายใน
โดยตัวเลขที่ได้นั้นจะต้องมาจากผลการทดสอบจาก Lab ตัวเลขตัวหลักที่หนึ่งจะบอกขนาดของแข็งที่จะสามารถป้องกันได้เช่น กรวด หรือแม้กระทั่งฝุ่นผงต่างๆ ตัวเลขหลักที่สองจะบอกถึงความสามารถในการป้องกันของเหลว เช่น น้ำหรือไอน้ำ โดยตัวเลขที่มากกว่าจะหมายถึงความสามารถที่สูงกว่านั่นเอง
คือ ค่ามาตรฐานการป้องกัน ซึ่งจะเป็นค่าแสดงระดับการป้องกันของกล้อง โดยที่ค่า IP นั้นจะแสดงด้วยตัวเลข 2 หลัก คือ IPxx โดยที่
- ตัวเลขหลักแรกจะหมายถึงการป้องกันจากของแข็ง ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-6
- ส่วนตัวเลขหลักที่ 2 จะหมายถึงการป้องกันจากของเหลว ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-9K
ความหมายของตัวเลข มาตรฐาน ip หลักที่1
- หมายเลข 0 หมายถึง ไม่มีการป้องกันใดๆ ได้เลย
- หมายเลข 1 หมายถึง มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 มม. ขึ้นไป เช่น ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์ โดยไม่ตั้งใจจากมือหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
- หมายเลข 2 หมายถึง มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 12 มม. ขึ้นไป เช่น ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์ โดยไม่ตั้งใจจากนิ้วมือหรือเครื่องมืออื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
- หมายเลข 3 หมายถึง มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มม. ขึ้นไป เช่น ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์ โดยไม่ตั้งใจจากไขควงหรือเครื่องมืออื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
- หมายเลข 4 หมายถึง มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มม. เช่น ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์ โดยไม่ตั้งใจจากสายไฟ, เส้นลวด, ไขควงขนาดเล็ก, แมลงบางชนิดหรือเครื่องมืออื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
- หมายเลข 5 หมายถึง สามารป้องกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจมีฝุ่นเล็กน้อยเล็ดลอดเข้าไป โดยฝุ่นที่เล็ดลอดเข้าไปนั้นต้องไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของอุปกรณ์ส่วนใหญ่มาตรฐาน IP นี้จะอยู่ในเครื่องมือวัดแบบพกพา หรืออุปกรณ์ที่ใช้เป็นครั้งคราว โดยฝุ่นอาจเล็ดลอดเข้าไปได้จากฝาปิดแบตเตอรี่ แต่เนื่องด้วยเวลาการใช้งานที่สั้นจึงทำให้ฝุ่นแถบจะเข้าไปไม่ได้เลย
- หมายเลข 6 หมายถึง สามารถป้องกันฝุ่นได้สมบูรณ์ โดยมาตรฐานนี้ถูกทดสอบบนพื้นที่ที่มีการไหลเวียนของอากาศและฝุ่นเป็นเวลา 8 ชั่วโมงส่วนใหญ่มาตรฐาน IP นี้จะอยู่ในเครื่องมือวัดแบบติดตั้งหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกใช้งานในพื้นที่ตลอดเวลา
ความหมายของตัวเลข มาตรฐาน ip หลักที่ 2
- หมายเลข 0 หมายถึง ไม่มีการป้องกันจากของเหลวใดๆ ได้เลย
- หมายเลข 1 หมายถึง มีการป้องกันจากหยดน้ำที่หยดลงมาในแนวดิ่งเท่านั้นผ่านการทดสอบโดย การปล่อยหยดน้ำในแนวตั้งปริมาณเทียบเท่าสายฝนขนาด 1 mm/min เป็นเวลา 10 นาที
- หมายเลข 2 หมายถึง มีการป้องกันจากหยดน้ำที่หยดลงกระทบทำมุม 15 องศาจากแนวดิ่งผ่านการทดสอบโดย การปล่อยหยดน้ำในแนวเฉียงปริมาณเทียบเท่าสายฝนขนาด 3 mm/min เป็นเวลา 2.5 นาที/ด้าน (รวมทั้งหมด 10 นาที) โดยทดสอบทั้งหมด 4 ด้านคือ ด้านซ้าย, ด้านขวา, ด้านหน้าและด้านหลังของตัวอุปกรณ์
- หมายเลข 3 หมายถึง มีการป้องกันจากน้ำฝนที่ตกกระทบทำมุม 60 องศาจากแนวดิ่งผ่านการทดสอบโดย การใช้หัวฉีดสเปรย์ (Spray Nozzle) ฉีดไปที่อุปกรณ์โดยมีแผ่นป้องกันน้ำ (เพื่อให้ได้มุมทดสอบ) ด้วยแรงดัน 50-150 kPa และอัตราการไหล 10 l/min เป็นเวลา 1 นาทีต่อพื้นที่อุปกรณ์ 1 m2 โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 5 นาที
- หมายเลข 4 หมายถึง มีการป้องกันจากน้ำได้รอบทุกทิศทางผ่านการทดสอบโดย การใช้หัวฉีดสเปรย์ (Spray Nozzle) ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ด้วยแรงดัน 50-150 kPa และอัตราการไหล 10 l/min เป็นเวลา 1 นาทีต่อพื้นที่1 m2 โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 5 นาที
- หมายเลข 5 หมายถึง มีการป้องกันจากการฉีดน้ำที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทางผ่านการทดสอบโดย การใช้หัวฉีด (Nozzle) ขนาด 6.3 mm ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ด้วยแรงดัน 30 kPa ที่ระยะห่าง 3 m และอัตราการไหล12.5 l/min เป็นเวลา 1 นาทีต่อพื้นที่อุปกรณ์ 1 m2 โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 นาที
- หมายเลข 6 หมายถึง มีการป้องกันจากการฉีดน้ำแบบรุนแรงที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง ผ่านการทดสอบโดย การ ใช้หัวฉีด (Nozzle) ขนาด 12.5 mm ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ด้วยแรงดัน 100 kPa ที่ระยะห่าง 3 mและอัตราการไหล 100 l/min เป็นเวลา 1 นาทีต่อพื้นที่อุปกรณ์ 1 m2 โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 นาที
- หมายเลข 6K หมายถึง มีป้องกันน้ำจากการฉีดแรงดันสูงที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทางทดสอบโดยการใช้หัวฉีด (Nozzle) ขนาด 6.3 mm ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ด้วยแรงดัน 1,000 kPa ที่ระยะห่าง 3 m และอัตราการไหล 75 l/min เป็นเวลา 1 นาทีต่อพื้นที่อุปกรณ์ 1 m2 โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 นาที
- หมายเลข 7 หมายถึง มีการป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้ที่ความลึกสูงสุด 1 เมตร เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาทีทดสอบในกรณีที่เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กจะแช่ตัวอุปกรณ์ลงในน้ำที่ความลึก 1,000 mm โดยวัดจากจุดต่ำสุดของตัวอุปกรณ์ถึงผิวน้ำ ในกรณีที่เป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่จะแช่ตัวอุปกรณ์ลงในน้ำที่ความลึก 150 mm โดยวัดจากจุดสูงสุดของตัวอุปกรณ์ถึงผิวน้ำ เป็นระยะเวลา 30 นาที ทั้ง 2 กรณี
- หมายเลข 8 หมายถึง มีการป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้แบบถาวร การทดสอบ เนื่องจากระยะความลึกในการใช้งานของอุปกรณ์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน การทดสอบของมาตรฐาน IP นี้จะขึ้นอยู่กับโรงงานผู้ผลิตโดยตรงซึ่งโรงงานผู้ผลิตจะระบุความลึกสูงสุดในการใช้งานของอุปกรณ์มาด้วย
- หมายเลข 9K หมายถึง มีป้องกันน้ำจากการฉีดแรงดันสูงพิเศษที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง ที่อุณหภูมิน้ำสูงสุด 80 °C ทดสอบ โดยการใช้หัวฉีด (Nozzle) ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ 4 ตำแหน่งคือทำมุม 0, 30, 60, 90 องศาจากแนวตั้งของอุปกรณ์ที่ระยะห่าง 100-150 mm ด้วยแรงดัน 8-10 MPa และอัตราการไหล 14-16 l/min ที่อุณหภูมิน้ำ 80 °C เป็นเวลาตำแหน่งละ 30 วินาที (รวมทั้งหมด 2 นาที)
เพราะฉะนั้นความหมาย มาตรฐาน IP ของกล้องวงจรปิดที่มีในปัจจุบันนี้คือ
- IP65 หมายถึง สามารถป้องกันฝุ่นได้ และการป้องกันจากการฉีดน้ำ ที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง
- IP66 หมายถึง สามารถป้องกันฝุ่นได้ และป้องกันจากการฉีดน้ำแบบรุนแรง ที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง
- IP-67 หมายถึง สามารถป้องกันฝุ่นได้ และป้องกันการแทรกซึมของน้ำ จากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้ที่ความลึกสูงสุด 1 เมตร เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาที
ซึ่งนั้นหมายความว่า มาตรฐานการป้องกันแบบ IP66 ก็เพียงพอต่อการเลือกใช้กล้องวงจรปิดสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปแล้ว
ฝากทิ้งท้าย มาตรฐาน ip
เป็นอย่างไรบ้าง กับมาตรฐานการป้องกันของแข็งและของเหลวที่นำมาฝาก คงได้ความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อสินค้า ไม่มากก็น้อย คราวหน้าอย่าลืมดูมาตรฐาน IP กันด้วยนะครับ เพื่อความคุ้มค่าและการนำไปใช้งานอย่างเหมาะสม
ท้ายสุดหวังว่าคงจะได้ความรู้เรื่องของมาตรฐานกล้องวงจรปิด คราวนี้ใครถามหรือบอกเราก็พอจะได้มีความรู้ไม่ได้ถูกหลอกอีกต่อไป คงจะมีประโยชน์สำหรับคนเพื่อนๆ ที่มีกล้องวงจรปิด หรือผู้ที่คิดจะซื้อกล้องวงจรปิดนะครับ